02 เมษายน 2012
|
การปฏิบัติตนของนักศึกษาฝึกงานหญิง
เรื่อง : ภาพประกอบ นางสาวพิมพร ศะริจันทร์ (2 เมษายน 2555)
อ่านเจอบทความหนึ่งเรื่อง การล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน (sex harassment) กลุ่มของอาชีพหรือตำแหน่งงานที่มีโอกาสเจอเรื่องเหล่านี้ หนึ่งในนั้นก็คือ นักศึกษาฝึกงาน นอกเหนือจากนี้ก็มี เลขานุการ พนักงานออฟฟิศ แอร์โฮสเตส พริตตี้ พนักงานเชียรเบียร์ เป็นต้น
ปัจจุบันสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จัดให้มีการฝึกงาน ฝึกประสบการณ์ ฝึกวิชาชีพหรือใช้ชื่ออื่นที่เกี่ยวข้องกับการออกไปฝึกงานนอกสถานศึกษา สำหรับการจัดการเรียนการสอนสายอาชีพ ทั้งระดับ ปวช. และ ปวส. ถูกกำหนดไว้ในระเบียบการจัดการฯ ให้นักเรียนนักศึกษาทั้งสองระดับต้องฝึกงาน รวมถึงสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งหลายสาขาก็กำหนดให้นักศึกษาฝึกงานเช่นเดียวกัน

นักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่
ดังนั้น ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ จะพบเห็นนักศึกษาฝึกงานอยู่ในสถานประกอบการ สำนักงานของหน่วยงานทั้งภาคเอกชนและรัฐบาล ส่วนใหญ่สถานประกอบการจะมอบหมายให้นักศึกษาฝึกงานหญิงปฏิบัติงานในสำนักงาน เป็นผู้ช่วยทำงานในหน้าที่ธุรการ สารบรรณ การเงินและบัญชี การฝึกการขายหรือการตลาด ยกเว้นนักเรียนนักศึกษาทวิภาคี (สอศ.) จะแยกฝึกเฉพาะสาขางานหรือบางสาขาที่เฉพาะเจาะจงในอาชีพเช่น งานโรงแรม ท่องเที่ยว อาหาร ตัดเย็บเสื้อผ้าอุตสาหกรรม ฯลฯ ก็จะอยู่ตามสายงานนั้น ๆ
งานสำนักงานจะเป็นงานเกี่ยวข้องกับเอกสาร งานอำนวยความสะดวกและประสานกับฝ่ายต่าง ๆ งานไม่ก่อกำไรโดยตรงจากการปฏิบัติงานและจะเป็นงานแทรกอยู่กับทุกฝ่าย เมื่อสถานประกอบการรับนักศึกษาเข้าฝึกงาน งานสำนักงานจึงเป็นด่านแรกที่ผู้ประกอบการมองอยู่ ยิ่งเป็นนักศึกษาหญิง โดยรวมก็มักจะคิดกันว่า ทักษะการติดต่อสื่อสารด้วยภาษาพูดควรยกให้หญิงมากกว่าชายอย่างแน่นอน ฉะนั้น เมื่องานสำนักงานแทรกอยู่กับทุกฝ่าย นักศึกษาฝึกงานหญิงจึงต้องได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กรณีฝ่ายนั้น ๆ มีผู้หญิงบ้างก็เป็นที่อุ่นใจได้กว่ามีพนักงานชายล้วน ในที่นี้ไม่ได้โทษฝ่ายชายแต่ประการใดแต่มองในด้านการปรับตัวของนักศึกษาบางคนก็ต้องใช้เวลาสักช่วงหนึ่ง โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษาทางสายอาชีพ ซึ่งในชั้นเรียนจะประกอบไปด้วยหญิงมากกว่าชาย
เหตุการณ์ sex harassment นั้นเกิดขึ้นได้ทั้งหญิงและชาย แต่ในที่นี้จะขอมุ่งประเด็นนักศึกษาหญิงก่อนก็แล้วกัน ให้พิจารณาโอกาสจะเกิดเหตุการณ์นั้น วิธีการป้องกันหรือเลี่ยงเหตุการณ์เหล่านี้อย่างไร มาติดตามกันตามหัวข้อดังนี้

นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา


เวลาปฏิบัติงาน ช่วงเวลาการฝึกงานนั้น สถานศึกษาจะตกลงเบื้องต้นหรือชี้แจงให้กับสถานประกอบการ ให้ปฏิบัติตามเวลาปกติ คือหน่วยงานราชการ ช่วง 8.30-16.30 น. เอกชน เริ่มที่ 9.00-17.00 น. หรือแตกต่างกันเล็กน้อย การเพิ่มวันหรือช่วงเวลาฝึกก็จะต้องรับทราบร่วมกันระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการ เพราะข้อมูลเหล่านี้สถานศึกษาจะต้องแจ้งนักศึกษาทราบ พร้อมยินยอมจะฝึกงานตามช่วงวันเวลา ก่อนเข้าไปในสถานประกอบการ เมื่อปฏิบัติงานตามเวลาปกติถึงเวลาเลิกงานจะต้องอนุญาตให้กลับ การกักหรือหน่วงเหนี่ยวไว้ให้ทำงานต่อทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อตัวนักศึกษาฝึกงานนั้นคือ อยู่ทำงานเพียงลำพังกับใคร ระยะทางไกล เปลี่ยวและยานพาหนะในการเดินทางมีจำกัด มีการบอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อให้นักศึกษาเตรียมตัวและวางแผนเพียงใด ส่อเจตนาให้มีอุปสรรคเพื่อใช้เป็นโอกาสอยู่ใกล้กับนักศึกษาหรือไม่ เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่าง อาจจะไม่ได้เป็นเจตนาของใครหรือเป็นช่วงฉุกเฉิน ซึ่งทางสถานประกอบการก็ควรแจ้งให้นักศึกษาได้ทราบเพื่อเตรียมความพร้อม แล้วทำให้นักศึกษาและผู้ปกครองเกิดความมั่นใจ


การเกิดปัญหา sex harassment นั้นจะสร้างความอับอาย มัวหมอง ให้กับทุกฝ่ายทั้งตัวนักศึกษาฝึกงาน บุคคลที่เกี่ยวข้อง สถานประกอบการและสถานศึกษา แม้ว่าบางครั้งจะได้รับการพิสูจน์ความจริงว่าไม่ได้เป็นเหมือนข่าวเผยแพร่ออกมา ดังนั้น การเตรียมตัวหรือมีข้อมูลไว้ก่อน รู้ทางหนีทีไล่ก็จะทำให้เรื่องราวเหล่านั้นไม่เกิดหรือเมื่อเกิดก็รู้ลู่ทางปฏิบัติ ทั้งฟากสถานศึกษาและสถานประกอบการ
นางสาวพิมพร ศะริจันทร์ เขียนวันที่ 28 มีนาคม 2555
พบนักศึกษาฝึกงานในสำนักงานต่าง ๆ ช่วงเดือนมีนาคม
การนำข้อความไปตีพิมพ์ต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้เขียนเท่านั้น
อีเมล
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
ผลงานและสิ่งพิมพ์ของผู้เขียน http://pr.nsdv.go.th/